รวมเมนูกุ้งสุดอร่อย พร้อมรู้จักกุ้งแต่ละชนิด และวิธีเลือกซื้อกุ้ง
เมื่อพูดถึงอาหารทะเล หรือวัตถุดิบจากแม่น้ำ หนึ่งในสัตว์น้ำอันดับแรกๆ ที่ทุกคนจะนึกถึงก็คือ "กุ้ง" กุ้งเป็นวัตถุดิบยอดนิยมของคนไทยมานาน ใช้ทำอาหารได้หลากชนิด Cookpad เลยขนไอเดียแสนอร่อยจากกุ้งชนิดต่างๆ มาให้เพื่อนๆ ได้ลองทำตามกัน แต่มารู้จักกุ้งชนิดต่างๆ กันก่อน เพราะกุ้งที่เราเห็นวางขายอยู่นั้นมีทั้งกุ้งสดๆ กุ้งแช่แข็ง กุ้งตัวเล็ก หรือกุ้งตัวใหญ่ หลากหลายไปหมด กุ้งชนิดไหนหน้าตายังไงและเหมาะทำเมนูอะไรอร่อยบ้าง มาดูกันเลย
ชนิดกุ้งที่คนไทยนิยมใช้ทำอาหาร
กุ้งแม่น้ำ
กุ้งแม่น้ำเป็นกุ้งน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ ไปจนถึงแหล่งน้ำกร่อย กุ้งแม่น้ำมีขนาดใหญ่กว่ากุ้งก้ามกรามที่เป็นกุ้งเลี้ยง และมีราคาค่อนข้างสูง
- ลักษณะ: ตัวใหญ่ เปลือกบาง หัวโต ก้ามยาว กล้ามเนื้อใหญ่และยาว
- รสชาติ: เนื้อกุ้งแม่น้ำจะแน่นเด้งหวาน อร่อย ส่วนหัวจะมีมันกุ้งที่เข้มข้น
- เมนูกุ้งแม่น้ำ เหมาะสำหรับการย่างหรือทำกุ้งเผา จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด ทำต้มยำ ย่างเนย วิธีเตรียมมักจะผ่าครึ่งกลางตัวและแผ่ออก ก่อนนำไปปรุง
กุ้งก้ามกราม
กุ้งก้ามกรามเป็นกุ้งน้ำจืดหรือน้ำกร่อย เป็นชนิดเดียวกับกุ้งแม่น้ำ แต่กุ้งก้ามกรามใช้เรียกกุ้งเพาะเลี้ยงที่เลี้ยงในกระชังหรือในบ่อ ส่วนกุ้งแม่น้ำจะอาศัยแหล่งน้ำในธรรมชาติ กุ้งก้ามกรามจะตัวเล็กกว่ากุ้งแม่น้ำ ทำให้ราคาถูกกว่า
- ลักษณะ: มีหลายขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงขนาดกลาง แต่ตัวเล็กกว่ากุ้งแม่น้ำ หัวโต ก้ามยาว เปลือกมีสีน้ำเงินอมเขียว
- รสชาติ: เนื้อกุ้งก้ามกรามจะหวานนุ่ม ไม่แน่นและเด้งเท่ากุ้งแม่น้ำ ส่วนหัวจะมีมันกุ้งพอสมควร
- เมนูกุ้งก้ามกราม มักใช้ทำอาหารแบบไม่กะเปลือกและหัว เพราะที่หัวมีส่วนมันกุ้งอยู่ ที่เมนูนิยมคือกุ้งเผากินกับน้ำจิ้มซีฟู้ด ต้มยำกุ้ง กุ้งผัดพริกเกลือ กุ้งทอดซอสมะขาม ฉู่ฉี่กุ้ง
กุ้งขาว
กุ้งขาวหรือกุ้งแวนนาไม เป็นกุ้งน้ำเค็มที่คนนิยมบริโภค มีราคาไม่แพงและหาซื้อง่าย ทั้งแบบสดไม่แกะเปลือกและแบบแกะเปลือกแช่แข็ง เนื่องจากเป็นกุ้งที่มาจากการเพาะเลี้ยง กุ้งขาวที่ขายจึงมีหลายขนาด แต่ตัวโตเต็มที่ก็มีขนาดไม่ใหญ่นัก
- ลักษณะ: ตัวเล็กกว่ากุ้งก้ามกราม ลำตัวขาวใส เปลือกบาง เนื้อนุ่ม
- รสชาติ: เนื้อมีความกรอบและหวานเล็กน้อย เนื่อไม่แน่นมาก ใช้ทำอาหารได้หลากหลาย แต่ไม่มีส่วนของมันกุ้งมากเหมือนกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งแม่น้ำ จึงไม่เหมาะกับเมนูที่ต้องการส่วนมันกุ้ง เช่น ต้มยำกุ้ง หรือนำมาเผา
- เมนูกุ้งขาว ใส่ในยำ ผัดผัก ผัดไทยกุ้งสเ ต้มยำกุ้ง กุ้งชุบแป้งทอด กุ้งอบวุ้นเส้น ข้าวผัดกุ้ง
กุ้งแชบ๊วย
กุ้งแชบ๊วยเป็นกุ้งทะเล อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายกุ้งขาว แต่ตัวใหญ่กว่า กุ้งแชบ๊วยธรรมชาติจะมีขาสีออกเหลือง ใช้ทำเมนูได้หลากหลาย
- ลักษณะ: ตัวเล็กถึงกลาง เปลือกบาง สีส้ม เปลือกแกะง่าย
- รสชาติ: เนื้อหวานและแน่น เหมาะกับเมนูที่ต้องการความสดและรสชาติที่เข้มข้น
- เมนูกุ้งแชบ๊วย ใช้ทำเมนูได้คล้ายกุ้งขาว เช่น ยำกุ้งสด กุ้งอบวุ้นเส้น ต้มยำกุ้ง ผัดผักใส่กุ้ง กุ้งคั่วพริกเกลือ กุ้งแช่น้ำปลา
กุ้งกุลาดำ หรือ กุ้งลายเสือ
เป็นกุ้งขนาดใหญ่ อาศัยในทะเลและน้ำกร่อย ในปัจจุบันมักเรียกว่า กุ้งลายเสือ ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของกุ้งกุลาดำ เนื้อมีรสอร่อย จึงมีราคาค่อนข้างสูง ปัจจุบันในธรรมชาติหาได้น้อยลง แต่สามารถเพาะเลี้ยงได้
- ลักษณะ: ตัวใหญ่ เปลือกหนา สีเหลืองหรือน้ำตาลสลับดำเป็นลาย
- รสชาติ: เนื้อมีความกรอบและหวาน แต่จะหนาและเหนียวกว่าเมื่อเทียบกับกุ้งชนิดอื่น นิยมใช้ในเมนูที่ต้องการความกรอบ เช่น กุ้งทอดกระเทียมพริกไทย หรือกุ้งราดซอส
- เมนูกุ้งกุลาดำหรือกุ้งลายเสือ กุ้งย่างเกลือ กุ้งอบเกลือ กุ้งคั่วพริกเกลือ กุ้งทอดกระเทียมพริกไทย กุ้งทอดราดซอสมะขาม
ความแตกต่างในรสชาติ ของกุ้งแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของเนื้อและความหวานของกุ้ง ซึ่งกุ้งแม่น้ำและกุ้งลายเสือมักจะมีความหวานมากกว่าชนิดอื่น ส่วนกุ้งขาวจะมีความกรอบที่โดดเด่น ส่วนกุ้งก้ามกรามเนื้อจะมีความนุ่มและซุย
วิธีเลือกซื้อกุ้งสด
- เลือกกุ้งที่สด: กุ้งสดควรมีเปลือกใส สีสม่ำเสมอ ไม่ขุ่นหรือซีด หัวติดแน่นกับตัว และหางงอเข้าหาตัว
- กลิ่น: กุ้งสดมีกลิ่นเค็มของทะเลอ่อน ๆ แต่ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือคาวรุนแรง หรือมีกลิ่นฉุนของฟอร์มาลีน
- เลือกกุ้งที่มีขนาดพอดี: ขึ้นอยู่กับเมนูที่ต้องการทำ เช่น กุ้งตัวใหญ่สำหรับกุ้งเผาหรือปิ้งย่าง ส่วนกุ้งตัวเล็กถึงกลางเหมาะสำหรับผัดหรือแกง
- เนื้อแน่น: ใช้นิ้วกดที่ตัวกุ้ง ถ้าเนื้อกุ้งเด้งกลับมาทันทีแสดงว่าสดดี แต่ถ้าเนื้อเละหรือนิ่มอาจจะไม่สด และถ้าเนื้อกุ้งมีทั้งส่วนที่แข็งสด และมีส่วนที่เปื่อยยุ่ยในตัวเดียวกัน อาจจะงมีการแช่ฟอร์มาลีนมา ให้หลีกเลี่ยง
วิธีทำความสะอาดกุ้ง
- ล้างด้วยน้ำเย็น: นำกุ้งที่ซื้อมาแช่ในน้ำเย็นจัดประมาณ 10-15 นาที เพื่อรักษาความสดและทำให้เนื้อเด้งขึ้น จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
- ตัดหนวดและขาออก: ใช้กรรไกรหรือตัดหนวดและขากุ้งออก เพื่อความสะอาดและง่ายในการปรุงอาหาร
- แกะเปลือก (ถ้าจำเป็น): ถ้าเมนูที่ต้องการแกะเปลือก เช่น ทำกุ้งผัด ให้แกะเปลือกกุ้งออก โดยเริ่มจากการดึงเปลือกที่หุ้มลำตัวออกอย่างเบามือ ระวังไม่ให้เนื้อกุ้งเสียหาย
- เอาเส้นดำออก: เส้นดำคือเส้นลำไส้ของกุ้งที่อยู่ที่หลัง ใช้ปลายมีดหรือไม้จิ้มฟันสะอาดดึงออกเบา ๆ เพื่อความสะอาดและให้กุ้งมีรสชาติดียิ่งขึ้น
- ล้างด้วยน้ำเกลือ: ก่อนปรุงอาหาร ให้นำกุ้งที่ทำความสะอาดแล้วมาล้างในน้ำเกลืออ่อน ๆ ประมาณ 2-3 นาที เพื่อช่วยขจัดกลิ่นคาว และทำให้เนื้อกุ้งเด้งขึ้น
เคล็ดลับการปรุง
- อย่าปรุงเกินไป: กุ้งจะสุกเร็ว ดังนั้น ควรระวังไม่ให้ปรุงนานเกินไป เพราะเนื้อกุ้งจะหดและแข็งเกินไป ควรปรุงแค่พอสุก เพื่อให้เนื้อยังเด้งและหวาน
- ใช้ไฟแรง: สำหรับเมนูผัดหรือย่าง การใช้ไฟแรงจะช่วยทำให้เนื้อกุ้งเด้งและไม่เหี่ยวลงเมื่อสุก
วิธีการเก็บรักษากุ้ง
1. เก็บในตู้เย็น (สำหรับการใช้ภายใน 1-2 วัน)
- การเตรียม: นำกุ้งสดที่ล้างทำความสะอาดแล้วมาห่อด้วยพลาสติกแรปหรือใส่ในกล่องปิดฝาให้แน่น
- วิธีการเก็บ: วางกุ้งในส่วนที่เย็นที่สุดของตู้เย็น เช่น ใกล้ช่องแช่แข็ง หรือในช่องเนื้อสัตว์
- ข้อแนะนำ: อย่าเก็บกุ้งไว้ในน้ำเกลือหรือน้ำแข็งเพราะจะทำให้กุ้งเสียความหวานและเนื้อเละเร็วขึ้น
2. เก็บในช่องแช่แข็ง (สำหรับการใช้ระยะยาว)
- การเตรียม:
- ไม่ปอกเปลือก: นำกุ้งทั้งตัวที่ไม่ต้องการปอกเปลือกมาห่อด้วยฟิล์มพลาสติกหรือใส่ในถุงซิปล็อกที่ปิดสนิท
- ปอกเปลือก: ถ้าต้องการใช้กุ้งที่ปอกเปลือกแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดกุ้ง ปอกเปลือกและเอาเส้นดำออก จากนั้นห่อด้วยฟิล์มพลาสติกหรือใส่ในถุงซิปล็อกที่ปิดสนิท
- แช่น้ำเกลือ (ถ้าต้องการ): ถ้าต้องการเก็บกุ้งให้เนื้อเด้ง สามารถแช่กุ้งในน้ำเกลืออ่อน ๆ ประมาณ 15 นาที จากนั้นให้สะเด็ดน้ำและจัดเก็บในถุงซิปล็อกก่อนแช่แข็ง
- วิธีการเก็บ: ใส่กุ้งในถุงซิปล็อกแล้วกดเอาอากาศออกให้มากที่สุด จากนั้นนำไปวางในช่องแช่แข็ง
- ระยะเวลาในการเก็บ: สามารถเก็บได้นานถึง 2-3 เดือน
3. เก็บแบบแช่น้ำแข็ง
- การเตรียม: นำกุ้งที่ต้องการเก็บใส่ในกล่องหรือภาชนะที่สามารถปิดฝาได้ จากนั้นเติมน้ำเย็นจัดจนท่วมกุ้ง แล้วปิดฝาให้แน่น
- วิธีการเก็บ: นำภาชนะที่แช่น้ำแข็งไปเก็บในช่องแช่แข็ง น้ำแข็งจะช่วยรักษาความสดของกุ้งได้ดีและป้องกันไม่ให้กุ้งเกิดการแห้งหรือเสื่อมคุณภาพ
- ข้อแนะนำ: เมื่อจะนำกุ้งออกมาใช้ ให้วางภาชนะในน้ำอุ่นสักครู่จนน้ำแข็งละลาย แล้วจึงค่อยนำกุ้งออกมาใช้
เคล็ดลับการเก็บรักษา:
- อย่าแช่กุ้งซ้ำหลายครั้ง: หากละลายกุ้งแล้วไม่ควรแช่แข็งใหม่เพราะจะทำให้เนื้อกุ้งสูญเสียความเด้งและคุณภาพ
- เก็บแยกเป็นส่วน ๆ: หากซื้อกุ้งมาเยอะ ควรแบ่งกุ้งออกเป็นส่วน ๆ ตามจำนวนที่จะใช้ในแต่ละครั้ง เพื่อลดการเปิด-ปิดถุงแช่แข็งหลายครั้ง
วิธีการเก็บรักษาเหล่านี้จะช่วยให้สามารถเก็บกุ้งไว้ได้นานขึ้นโดยยังคงความสดและรสชาติที่ดีของกุ้งไว้ได้
หากสนใจสูตรอาหารเมนู กุ้ง อื่นๆ สามารถกดดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
ถ้ายังไม่จุใจกับสูตรอาหารสามารถเข้าไปดูสูตรอาหารเพิ่มเติมได้ที่