7 ไอเดียเมนูรักษ์โลก ทำอาหารให้ดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม

อาหาร 1 จานที่เรากินนั้นมีผลต่อตัวเราและโลกใบนี้อย่างคาดไม่ถึง  ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ ขั้นตอนการปรุง การใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่า การกำจัดเศษอาหารที่กินเหลือ และอีกหลายสิ่งที่ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสุขภาพของตัวเราด้วย

ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมคือปัญหาใหญ่ที่อาจดูเหมือนไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวกว่าที่เราคิด  เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราอาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากโดยไม่รู้ตัว ไม่เว้นแม้แต่การกิน  ซึ่งการทำอาหารกินเองที่บ้าน เราสามารถเลือกวิธีการทำอาหารที่ดีต่อเราและดีต่อโลกได้ด้วยตัวเอง ตามวิถีการกินแบบยั่งยืน sustainable eating หรือเรียกง่ายๆ ว่า เมนูรักโลก

แต่ถ้าใครยังนึกไม่ออกจะทำอาหารอย่างไรที่จะช่วยดูแลสุขภาพของเราและสิ่งแวดล้อม เรามี 7 ไอเดียที่ทำได้ไม่ยาก พร้อมสูตรอาหารมาแนะนำกันตามนี้


1. กินวัตถุดิบตามฤดูกาล

เมนูแกงส้มสายบัวชะอมทอด จากคุณ June

วัตถุดิบ เช่น ผักและผลไม้มีฤดูกาลที่ให้ผลผลิตตามธรรมชาติ เช่น ผักบางอย่างไม่ชอบน้ำเยอะหรืออากาศหนาวก็จะเจริญเติบโตได้ดีในฤดูร้อน  ผักที่เติบได้ได้ดีในฤดูกาลของมัน ทำให้คนปลูกลดการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงเพื่อเร่งหรือดูแลผลผลิต  ผู้บริโภคก็ได้กินวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพตามไปด้วย รวมทั้งกระบวนการปลูกนี้ก็ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และสิ่งมีชีวิตข้างเคียง  นอกจากผักและผลไม้แล้ว สัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เช่น ปลา กุ้ง ปู หอยก็มีฤดูกาลที่เหมาะกับการกินอยู่ด้วยนะ

2. หมั่นเคลียร์วัตถุดิบในตู้เย็น

เมนูราดหน้ารวมมิตรไร้เส้น จากคุณ Areerat Chaichoy

ในตู้เย็นมักมีวัตถุดิบที่กินไม่หมดตกค้างเสมอ บางอย่างก็แช่อยู่ในนั้นนานเป็นปี นอกจากจะหมดอายุกินไม่ได้ ยังกินพื้นที่และกินไฟอีกด้วย  มาลองคุ้ยตู้เย็นสำรวจวัตถุดิบกันเถอะว่ามีอะไรเหลืออยู่ และจะนำมาทำเป็นอาหารอร่อยๆ อะไรได้บ้าง  อาจเคลียร์ตู้เย็นทุก 3-4 วัน หรือก่อนไปปจ่ายตลาด  บางทีวัตถุดิบตกค้างในตู้เย็นอาจนำมาสร้างสรรค์เมนูอร่อยๆ แปลกใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ  

3. กินเหลือ อย่าทิ้ง ทำเป็นเมนูใหม่ได้

มนูข้าวจี่ Upcycle 2 way จากคุณ Tunarap

รู้ไหมว่าหลายเมนูอร่อยๆ ก็เกิดมาจากการนำอาหารที่กินไม่หมดมาปรับเป็นเมนูใหม่  อาหารที่กินไม่หมด กินเหลือ กินซ้ำๆ ก็อาจทำให้เราเบื่อ  ถ้าลองนำมาปรับเป็นเมนูใหม่ ปรุงเพิ่ม ใส่วัตถุดิบอื่นๆ ผสม ก็อาจเปลี่ยนรสชาติและเปลี่ยนความจำเจได้ ทั้งยังได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และอาจได้เมนูใหม่ที่อร่อยไม่เหมือนใคร

4. ยืดอายุวัตถุดิบด้วยการถนอมอาหาร

เมนูปลาส้มปลานิล จากคุณครัวไทยในเกาะเรอูนียง‌‌

วัตถุดิบที่กินไม่หมด อย่าปล่อยให้เน่าเสีย นำมาแปรรูป ถนอมอาหารด้วยวิธีที่หลากหลาย ทั้งช่วยประหยัด ได้อาหารรสชาติใหม่ๆ และยังช่วยรักษ์โลกอีกด้วย  วิธีแปรรูปอาหารมีมากมายทั้ง การดอง เชื่อม ตากแห้ง ทำแยม กวน แช่อิ่ม ทำกิมจิ ทำแหนม ปลาส้ม ปลาร้า นอกจากยืดอายุอาหารยังได้รสชาติที่แปลกใหม่ออกไปด้วย

5. ทำเมนูที่ใช้พลังงาน&ความร้อนน้อย

เมนูยำอะโวคาโด้ จากคุณ obob’s cooking‌‌

ทุกวันนี้เราใช้ทรัพยากรพลังงานกันมาก ทั้งจากไฟฟ้าหรือแก๊ส  การผลิตพลังงานเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย  ถ้าเราเปลี่ยนมาทำเมนูประหยัดพลังงาน ลดการใช้แก๊สและไฟฟ้าได้ก็คงจะดีไม่น้อย แถมยังช่วยประหยัดเงินค่าไฟด้วย  ที่สำคัญอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนยังรักษาคุณค่าของสารอาหารไว้ได้ครบถ้วนด้วยนะ

6. กินเมนูเน้นผัก

เมนูต้มข่าเห็ด วีแกน จากคุณ Bossa‌‌

กินผักได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลก เพราะกระบวนการปลูกพืชนั้นใช้พลังงานและทรัพยากรน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ แถมกินผักยังช่วยเรื่องสุขภาพ ยิ่งเป็นผักตามฤดูกาลก็ยิ่งดี  อาจจะลองเริ่มโดยการกินเมนูมังสวิรัติเป็นบางมื้อหรือกินเจในช่วงเทศกาลกินเจ หรือใครอาจจะเริ่มโดยปรับเปลี่ยนเป็นเมนูเน้นผักมากกว่าเนื้อก็ได้

7. กินอาหารพื้นบ้านและท้องถิ่น

เมนูเห็ดเผาะผัดยอดม่อน จากคุณ Dome Klayphaksi

อาหารท้องถิ่น คือ อาหารที่ใช้วัตถุดิบจากพื้ที่ที่เราอยู่ อาจหาวัตถุดิบได้จากตลาดท้องถิ่น วัตถุดิบเหล่านี้ช่วยลดการขั้นตอนการขนส่งก็ข่วยประหยัดการใช้พลังงานต่างๆ ได้ หรือถ้าใครอาศัยอยู่ในเมือง ไม่สามารถหาเมนูท้องถิ่นได้ อย่างน้อยก็หาวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศของเรา ก็ช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า วัตถุดิบที่ต้องขนส่งมาจากต่างประเทศ


จะเห็นได้ว่าอาหาร 1 จานที่เราปรุงเอง มีส่วนช่วยรักษาโลกใบนี้ได้มากจริงๆ ถ้าทุกคนทำอาหารโดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ รับรองว่าทั้งสุขภาพของตัวเราและสิ่งแวดล้อมของโลกนี้ต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน

ถ้ายังไม่จุใจกับสูตรอาหารสามารถเข้าไปดูสูตรอาหารเพิ่มเติมได้ที่ Cookpad แอปค้นหาและแบ่งปันสูตรอาหารที่ดีที่สุด โดยคนรักการทำอาหารกินเองในไทย และกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

หรือโหลดแอพ Cookpad ไว้ในมือถือได้เลย